ข้าวกล้อง
จ.ลำปาง
รายละเอียดสินค้า
ตั้งแต่เดิมที พ่อ แม่ ประกอบอาชีพชาวนาอยู่แล้ว และถือเป็นอาชีพที่ลำบาก รายได้น้อย ในตอนนั้น จึงไม่ต้องการให้ลูกต้องมาประกอบอาชีพการเกษตรที่ลำบากเหมือนตน และพยายามส่งเสียให้จบการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาตรี เพื่อประกอบอาชีพอื่นที่มีรายได้ที่สูงกว่าการเป็นชาวนา
จนกระทั่งพ่อหลวง ร.9 เศรษฐกิจพอเพียง ได้มีการจัดโครงการนำเกษตรกรเข้ามาอบรมและส่งเสริม พ่อก็เข้าร่วมและเริ่มการทำเกษตรผสมผสานและปรับเปลี่ยนวิธีคิดต่ออาชีพการเกษตรตั้งแต่นั้นมาและชักชวนให้ข้าพเจ้ากลับบ้าน ให้ทิ้งอาชีพพนักงานบริษัท เพื่อที่จะได้มาอยู่ด้วยกัน พ่อ แม่ ลูก แต่เนื่องจากตำแหน่งและเงินเดือนที่ได้รับ ณ ตอนนั้นค่อนข้างสูง จึงได้ตอบพ่อไปแค่ขอไปทำงานต่อสักพักและจะกลับมาอยู่บ้าน พ่อและข้าพเจ้าเริ่มเปิดใจพูดคุยเรื่องการทำเกษตรมากขึ้น โดยเริ่มจากการผลิตข้าว ณ ตอนนั้นพบว่ากระแสของข้าวกล้องในกรุงเทพและปริมณฑลได้รับความนิยมมาก ราคาในท้องตลาดค่อนข้าวสูง เมื่อกลับมาบ้านที่ลำปางอีกครั้งในวันสงกรานต์ปี 2557 จึงพูดคุยแลกเปลี่ยนกับพ่อเรื่องการปลูกข้าวกล้อง (ตอนนั้นข้าพเจ้าทำนาไม่เป็นเลย) พ่อเปิดใจ และให้ข้าพเจ้าหาเมล็ดพันธุ์มาลองปลูก เราเลือกข้าวกล้องสายพันธุ์ไรซ์เบอรี่ ในวันที่นัดรับเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นวันที่พ่อเริ่มรู้สึกป่วยครั้งแรกและพาพ่อเข้ารักษาที่โรงพยาบาลลำปาง พบว่าท่านป่วยเป็นโรคหัวใจ แต่วันถัดไปข้าพเจ้ามีความจำเป็นต้องกลับไปทำงานต่อที่อยุธยา จึงชวนท่านไปอยู่ด้วย พ่อไม่ไป แต่ขอสิ่งหนึ่งจากข้าพเจ้า “อย่าทิ้งแม่นะ ช่วยดูแลแม่ด้วยได้ไหม” เมื่อถึงอยุธยา เราได้พูดด้วยกันอีกเป็นครั้งสุดท้ายทางโทรศัพท์ นั่นเป็นเสียงสุดท้ายจริงๆที่ฉันได้ยิน อีกวันถัดมาพ่อล้มด้วยอาการหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ชีวิตข้าพเจ้าตอนนั้นรู้สึกเคว้งคว้างมาก และมองไปเห็นเมล็ดพันธุ์ข้าวไรซ์เบอรี่ที่ซื้อจะมาทดลองปลูกกับพ่อ จำนวน 1 ไร่ เลยตัดสินใจนำไปปรึกษาคุณอา ตอนแรกคุณอาปฏิเสธที่จะปลูกมันเพราะไม่เคยปลูกข้าวกล้อง ปลูกแล้วจะไปขายที่ไหน ข้าพเจ้าบอกคุณอาว่าช่วยปลูกหน่อยเถอะ ข้าพเจ้าจะลงทุนและจัดจำหน่ายเอง คุณอาเลยยอมปลูกให้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการทำตลาดข้าวของข้าพเจ้า
ปี 2559 ข้าพเจ้าตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่บริษัท จ.อยุธยา เพื่อกลับมาดูแลแม่ตามที่พ่อขอไว้ ตอนนั้นข้าพเจ้าไม่มีความเชื่อมั่นในการทำเกษตรเพราะทำไม่เป็นเลยและรายได้ของอาชีพเกษตรก็ยังไม่รู้ว่าจะหามาจากทางไหน (ทุนของข้าพเจ้าในตอนนั้นมีแค่ที่ดินสำหรับทำนาแต่ไม่มีเงินทุน) อีกทั้งข้าพเจ้ายังมีหนี้สินอยู่ก้อนหนึ่ง จึงตัดสินใจกลับไปหางานประจำอีกครั้งในจังหวัดลำปางและทำการศึกษาหาข้อมูลด้านการเกษตรควบคู่กันไป ไม่ว่าจะหาความรู้จากทางอินเตอร์เน็ต เข้าอบรมเรื่องการเกษตรตามที่ต่างๆ (เกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดลำปาง, ทายาทเกษตรกรมืออาชีพ) การขอคำปรึกษาจากปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้ที่ทำเกษตรทั่วไป จากสิ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ได้นำมาสู่การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเองโดยการลาออกจากการเป็นพนักงานบริษัทอย่างถาวร มาเป็นเกษตรกรเต็มตัว มีการถอดบทเรียนหรือการจดบันทึกการเกษตรที่ตนทำอยู่และรู้จักที่จะเรียนรู้พัฒนาผลิตภัณฑ์จนได้รับมาตรฐานด้านการผลิตทางการเกษตร GAP (ข้าว), Organic TH (ไม้ผล) รวมถึงมาตรฐาน Primary GMP/อ.ย. สำหรับบรรจุข้าวสารถุงสุญญากาศ ตามมาตรฐานการผลิตอาหารที่ได้การรับรองจากกระทรวงสาธารณะสุขจังหวัด และก่อให้เกิดแบรนด์สินค้า “สวนอิป้อ” ขึ้นมา ในปี 2560 เป็นต้นมา
“สวนอิป้อ” เป็นภาษาพูดของภาคเหนือ ซึ่งแปลตรงตัวว่า สวนของพ่อ
ข้าพเจ้าตั้งชื่อนี้เพราะคิดถึงพ่อ คิดถึงสิ่งที่ท่านสร้างและมอบเป็นมรดกให้แก่ข้าพเจ้า
แม้ข้าพเจ้ากับพ่อจะไม่เคยทำเกษตรร่วมกันมาก่อน แต่เราก็สานต่อกันจนติด ต่อยอดการเกษตรจากรุ่นพ่อส่งต่อรุ่นลูก และข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นว่า หากเรามีใจรัก มีความเข้าใจ มีความรู้ด้านการเกษตรที่ทำอยู่จะสามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ตนเองและครอบครัวได้
ผลิตภัณฑ์
ข้าวก่ำล้านนา บรรจุถุงสูญญากาศ 1 กิโลกรัม ราคา 79 บาท
ข้าวกล้องหอมมะลิ บรรจุถุงสูญญากาศ 1 กิโลกรัม ราคา 79 บาท
หมายเหตุ ราคานี้ไม่รวมค่าขนส่งมาตรฐานที่ได้รับ
ติดต่อ พูดคุย กับเกษตรกร
ช่องทางการจัดส่ง
- Kerry Express
- Flash Express